Fewocious จากเด็กข้ามเพศที่ถูกทำร้ายโดยครอบครัว สู่ศิลปินอายุ 18 ที่ทำเงินมากกว่า 500 ล้านบาทภายใน 1 ปี

top NFT artist at 2021 june

 

มีคนแนะนำให้ผมรู้จักกับ Fewocious เค้าเล่าให้ผมฟังว่าเป็นศิลปินอายุเพียง 18 ปีที่ติด Top 5 NFT artist ทำให้ผมมีความสนใจและเริ่มต้นทำความรู้จักความเป็นมา

หลังจากเรียนรู้เรื่องราวของเขา ผมพบว่าโลกของเราเปลี่ยนเร็วเหลือเกิน เค้าใช้เวลาเพียงไม่ถึง 1 ปีเปลี่ยนชีวิตเขาไปสู่ก้าวใหม่ที่มอบอิสระภาพแห่งการสร้างสรรค์อย่างมากมาย

เขาเกิดในครอบครัวที่ใช้ความรุนแรง ถูกทุบตีและตะโกนใส่ตั้งแต่เด็ก จนเคยอยากฆ่าตัวตาย มีอาการซึมเศร้า ต้องพบจิตแพทย์ แต่ครอบครัวที่ไม่เข้าใจ ไม่เชื่อว่าโรคนี้มีจริง จึงไม่พาเขาไปรักษาต่อ เรื่องราวต้องไปถึงศาล เขาจึงได้ย้ายบ้าน ย้ายโรงรียนและหลุดพ้นจากสถานการณ์ที่เลวร้ายนั้น

เขาเริ่มต้นจากการถ่ายรูปที่เค้าวาด นำไปปริ้นด้วยเครื่องปริ้นเตอร์ เอาไปขายบนเว็บไซต์ ในราคาชิ้นและ 5 – 20 USD (เหรียญสหรัฐ) รับงาน commission ครั้งละ 10 USD ทำต่อเนื่องกันทุกวัน จนกระทั่งวันหนึ่ง มีคนซื้องาน art ของเขาไปในราคา 90 USD ครั้งนั้นเขาดีใจมาก เพราะเป็นครั้งแรกที่ขายงานได้ราคาสูงขนาดนั้น

หลังจากนั้น ในเดือนมีนาคม ปี 2020 คนที่ซื้อผลงานเขาอีเมล์กลับมาบอกว่า ชอบงานของเขามาก เค้าอยากได้เพิ่ม แต่เค้าไม่ได้อยากได้เป็นชิ้นงาน (Physical) เขาอยากเป็นเจ้าของผลงานดิจิตอล (Digital ownership) และส่ง link ของ superrareและ niftygateway ซึ่งเป็นเว็บสำหรับขายงาน NFT art เขาจึงเริ่มศึกษาและขายงาน NFT art

เขาขายงาน NFT ชิ้นแรกได้ในราคา 4.5 ETH (Ethereum coin ซึ่งประมาณ 1,500 USD ในเวลานั้น มิถุนายน 2020)

หลังจากที่ขายงานชิ้นแรกได้เขาจึง post ลง twitter รัว ๆ ด้วยความตื่นเต้น ทำให้นักสะสมและชาวทวิตเตอร์สนใจ เข้าไปดูงานของเขา ในนั้นเขายังมีงานที่ทำไว้แต่ยังไม่ได้ขายอยู่ 3 ชิ้น ทำให้งาน 1 ชิ้นถูกขายในวันเดียวกันที่ราคา 1,500 USD และอีก 2 ชิ้น ถูกขายที่ราคา 2,000 USD (ประมาณ 64,000 บาท) ในวันถัด ๆ ไป คืนนั้นเขาจึงแทบไม่ได้นอนและไปโรงเรียนแบบ งง ๆ ว่าเกิดอะไรขึ้น เป็นช่วงเวลา 1 อาทิตย์ก่อนล็อคดาวน์โควิด-19 ในพื้นที่ของเขา

เขามีเป้าหมายว่าจะต้องย้ายออกจากบ้านให้ได้ เพราะเขาถูกตะโกนใส่หน้าทุกวัน ครอบครัวไม่ชอบงานศิลปะของเขา แต่เหมือนโชคชะตาเล่นตลก รายได้ของเขาอยู่ในรูปแบบของ cryptocurrency คือ Ethereum coin ซึ่งตอนนั้นเขาอายุ 17 ปียังทำธุรกรรมไม่ได้ ครอบครัวก็ไม่สนับสนุน เขาจึงไม่สามารถใช้เงินที่มีได้ เขาต้องรอถึงวันเกิดคือ 1 มกราคม จึงทำธุรกรรมถอนเงินได้

เขาทำงานต่อเนื่องและขายงานได้ที่ราคาสูงสุด 550,000 USD (17.6 ล้านบาท)

 

เขาเล่าถึงการที่เค้าถูกอุ้มชูดูแลจากชุมชน NFT art แม้ว่าครอบครัวจะไม่ได้ส่งเสริมเขา แต่เค้าสามารถไปหาศิลปินรุ่นพี่ นักสะสม ขอความช่วยเหลือและปรึกษาได้ทุกเรื่องตั้งแต่เรื่องการซักผ้า ไปจนถึงเรื่องเหรียญ Ethereum

หลังจากนั้นเค้าได้ร่วมงานกับนักศิลปินนักร้องเพลงแร็ป two feet ออกผลงานที่มีภาพและเสียง โปรเจ็คนั้นทำเงินได้ 1.1 ล้าน USD ทำให้เป็นที่พูดถึงเป็นอย่างมาก

โครงการถัดไปเขาได้ดีไซน์รองเท้าเสมือนจริง ร่วมกับ RTFKT Studios ซึ่งทำเงินได้ 3 ล้าน USD ใน 7 นาที

Fewocious ได้เล่าถึงการที่เขาเคยเล่นเกม play station 2 อย่างหนัก มันเชื่อมโยงให้เขาเข้าใจเรื่อง เหรียญ Ethereum เพราะว่าเขาคุ้นเคยกับเงินในเกม ทำให้เขายอมรับในสิ่งที่เป็นและเดินหน้าไปเรื่อย ๆ กับ NFT

ล่าสุด christies บริษัทจัดประมูลชื่อดังได้ ทำการประมูลงานศิลปะของ Fewocious

จากที่เค้าเคยคิดเล่น ๆ ว่าเขาอาจจะได้เข้า christies เมื่ออายุ 90 คือทำงานถึงอายุ 40 แล้วตายหลังจากนั้นอีก 50 ปี christies ถึงจะเอางานเขาออกประมูล แต่กลายเป็นว่าเขาเป็นศิลปินอายุน้อยที่สุดที่ christies ได้เคยจัดประมูลงาน

ที่สำคัญกว่านั้นคือ ทาง Christies ได้ยอมรับในตัวตนของเขาที่เป็น คนข้ามเพศ และไม่ได้กังวลว่างานของเขาจะเศร้าเกินไป ทำให้เขาดีใจมากที่ได้รับการยอมรับและจะได้แชร์เรื่องราวของเขาและ NFT art ให้คนอื่นรับรู้ NFT และโดยเขาตั้งชื่องานชุดนี้ว่า Hello, i’m Victor (Fewocious) and This Is My Life งานชุดนี้มี 5 รูป แต่ละรูปเล่าเรื่องชีวิตของเขาตั้งแต่อายุ 14 – 18 ปี ณ ตอนนี้ (27 มิถุนายน ราคาสูงสุดอยู่ที่ 300,000.-)

 

Fewocious เล่าถึงงานชิ้นนี้ว่า 

“ฉันเริ่มตั้งคำถามเรื่องเพศสภาพของฉัน เมื่ออายุ 14 ปี
ฉันหวังว่า ฉันจะได้รับอนุญาตให้ใส่เสื้อผ้าที่ฉันต้องการ
ฉันหวังว่าแม่จะให้ฉันได้ไว้ผมในทรงที่ฉันอยากไว้
แม่บอกฉันว่า สิ่งที่ฉันคิดมันไม่ดี
แม่บอกฉันว่าถ้าเธอตัดผม แม่จะไม่อยากเห็นหน้าฉันอีก
แม่บอกฉันว่า คนอย่างฉันมันแย่และไม่เข้าพวก
แม่บอกว่าเธอไม่ต้องการเห็นฉันในบ้านถ้าฉันแสดงออกอย่างที่ตัวฉันเป็น
แม่บอกว่า แม่บอกว่า แม่บอกว่า
.
แม่ของฉันไม่เคยรู้ว่าฉันเป็นใคร
แม่ของฉันไม่เคยต้องการลูกชาย”

 

คำแนะนำจาก Fewocious 

เขาแนะนำว่า บางครั้งศิลปินจะหมกหมุ่นทำงานของตัวเอง โดยไม่รู้ตัวว่าสิ่งที่ทำอยู่มันเจ๋งมาก ในชุมชน NFT มันสำคัญมากที่จะบอกเล่าเรื่องที่ตัวเองทำ ถ่ายรูปห้องทำงานของตัวเอง เล่าเรื่องทีตัวเองทำอยู่ แม้ว่ายังไม่เสร็จดีก็ได้ เพราะว่านักสะสมหรือศิลปินคนอื่น ๆ ไม่ได้รับรู้แนวคิดของคุณ เค้าไม่ใช่คุณ การบอกเล่ามุมมองให้คนอื่นฟังทำให้เขาเรียนรู้มากขึ้นเกี่ยวกับตัวคุณและงานของคน ทำให้เค้าสนใจสิ่งที่คุณทำอยู่ และรับรู้มากกว่าการเห็นรูป ๆ เดียว

ทำความรู้จักเรื่องราวของ Ferocious ได้ที่ 

ใครที่สนใจเรื่อง NFT art ไม่ว่าจะเป็นศิลปินหรือนักสะสมสามารถเริ่มเรียนรู้ได้ที่กลุ่ม NFT and Crypto Art Thailand

หรือ ช่อง youtube NFTnCRYPTO Pete