เราจะซื้อรูปราคาสูงไปประดับบ้านทำไม ทั้ง ๆ ที่มีรูปภาพที่พิมพ์ขายในราคาถูกกว่าตั้งเยอะ
แต่แท้จริงแล้ว มันมีเบื้องลึกเบื้องหลังที่หลายคนมักไม่รู้ และถ้าเราได้ฟังคำแนะนำที่อาจารย์เฉลิมชัย ให้กับนักสะสมงานศิลปะรุ่นใหม่แล้ว ความคิดของคุณอาจเปลี่ยนไปตลอดกาล
ในการบรรยายครั้งหนึ่งที่ พิพิธภัณฑ์ศิลปะไทยร่วมสมัย (MOCA Bangkok) อ.เฉลิมชัย ได้ให้คำแนะนำกับผู้สะสมงานศิลปะรุ่นใหม่ (New art collector) ไว้ดังนี้
1) คำแนะนำแรก ซื้องานศิลปะที่ชอบเพื่อเป็นสมบัติของชาติ
อาจารย์ได้ชี้ให้เห็นว่า เราซื้องานศิลปะส่วนหนึ่งเป็นเพราะเราชอบ และการซื้อของเราทำให้ศิลปินอยู่ได้ มีกำลังใจในการสร้างงานศิลปะและพัฒนางานขึ้นไปอีก โดยงานศิลปะเหล่านั้นจะเป็นสมบัติของชาติ เพื่อบอกเล่าเรื่องราว ความนึกคิดของสังคมในแต่ละช่วงเวลาให้กับคนรุ่นหลังต่อไป
2) จะซื้องานศิลปะต้องรู้จักศิลปิน
อาจารย์เฉลิมชัยแนะนำว่าก่อนที่เราจะซื้องานศิลปะ เราต้องศึกษาทำความรู้จักศิลปินว่ามีความมุ่งมั่นตั้งใจแค่ไหน จะอยู่บนเส้นทางนี้ไปตลอดไหม คอยติดตามว่างานมีพัฒนาการหรือเปล่า รวมถึงดูว่ามีรางวัลเป็นเครื่องรับรองไหม สิ่เหล่านี้จะสะท้อนถึงคุณภาพและความตั้งใจของศิลปิน
นอกจากนี้ในรายละเอียด อาจารย์ยังแนะให้ดูถึงว่า ศิลปินมีการตลาดไหม รักษาราคางานของตัวเอหรือไม่ มีนักสะสมใหม่ ๆ เข้ามาเก็บงานบ้างหรือเปล่า สิ่งเหล่านี้สะท้อนการบริหารจัดการและความสม่ำเสมอต่อเนื่องของศิลปิน
อาจารย์เล่าถึงตัวเองในช่วงเริ่มต้นว่าทุกครั้งที่คุยกับคนที่มาชมงานสายตาอาจารย์จะมุ่งมั่นและบอกกับคนที่มาดูงานเสมอว่าอีกหน่อยผมจะเป็นศิลปินที่มีชื่อเสียง และอาจารย์ก็ไม่ทำให้คนที่สนับสนุนงานอาจารย์ผิดหวังจริง ๆ นอกจากนี้ตัวอาจารย์เองยังส่งงานประกวดเสมอ
3) ซื้อตอนที่ยังไม่มีใครรู้จัก ช่วยให้ศิลปินได้มีโอกาสทำงานต่อ
อาจารย์เฉลิมชัยเล่าถึงคุณชัย โสภณพนิช ว่าสมัยที่อาจารย์เริ่มต้นจัดแสดงงานใหม่ๆ คุณชัยซื้อรูปอาจารย์เฉลิมชัยในราคารูปละ 3,000 บาท
ภายหลังจากที่มีชื่อเสียงแล้ว อาจารย์เฉลิมชัยถามคุณชัยว่า ทำไมตอนนั้นคุณชัยถึงซื้อรูปของอาจารย์
คุณชัยยตอบว่า ก็ไม่มีอะไรมาก ตอนนั้นอาจารย์เป็นเด็ก ๆ ขายรูปถูก ๆ ผมก็ซื้อไปแจกคน เป็นเด็กๆ ขายรูปถูก ๆ ผมก็ซื้อไปแจกเขา
ผมเห็นอาจารย์เป็นเด็ก ๆ เอาเงินซื้อไป 5 รูป 3,000 บาทรวม 15,000 เงินน้อย ๆ ช่วยให้อาจารย์ได้วาดรูปไป วันนึงอาจารย์อาจจะมีชื่อเสียง
ซึ่งรูปที่คุณชัยซ์้อตอนนั้นไม่มีอยู่ที่คุณชัยเลยสักรูป
คุณชัยซื้อรูปอาจารย์อีกทีเป็นครั้งที่ 2 ตอนนั้นอาจารย์เริ่มมีชื่อเสียงแล้ว ครั้งนี้อาจารย์ซื้อในราคา 50,000 บาท หลังจากการซื้อครั้งนั้นคุณชัยไม่ได้ให้รูปอาจารย์กับใครอีก
หลังจากนั้นคุณชัยได้ซื้อรูปอาจารย์เพิ่มในช่วงราคา 100,0000 บาทถึง 500,000 บาทจากนั้นอาจารย์ก็หยุดขายให้
4) งานศิลปะมีมูลค่าเพิ่ม
อาจารย์เฉลิมชัยเปรียบงานศิลปะเป็นเหมือนหุ้น มีช่วงที่เศรษฐกิจตกต่ำทำให้รูปและงานศิลปะบางชิ้นราคาตกต่ำ แต่เมื่อเศรษฐกิจดีขึ้นราคารูปเหล่านั้นก็กลับขึ้นมา
อาจารย์เล่าถึงนักสะสมคนนึงที่ชื่นชอบรูปอาจารย์ ซื้อไว้ตั้งแต่ตอนเริ่มต้นสร้างฐานะ โดยที่ขณะนั้นเขายังไม่ค่อยมีเงินแต่อยากได้งานของอาจารย์ อาจารย์จึงขายรูปเล็กๆราคา 20,000 บาทให้ พอเริ่มมีฐานะก็เริ่มซื้อรูปที่ราคาสูงขึ้นจนรูปหลังสุดที่อาจารย์ขายให้คือราคา 300,000 บาท
จนกระทั้งวันหนึ่งนักสะสมท่านนี้เสียชีวิตลง ทำให้ลูกเมียไม่มีรายได้แฟนจึงติดต่ออาจารย์ขออนุญาตขายรูป
โดยรูปทั้งชุดนั้นขายไปในราคา 16 ล้านบาท ซึ่งมากกว่าราคาที่ซื้อหลายเท่านัก ช่วยให้ครอบครัวและคนที่อยู่ข้างหลังนักสะสมนั้นมีชีวิตอยู่ได้โดยไม่ลำบาก
การซื้องานศิลปะจึงเป็นการสะสมทรัพย์สิน ที่สามารถเพิ่มค่าได้ในอีกรูปแบบหนึ่ง
5) ซื้อเพื่อสร้างสัมพันธ์กับศิลปิน
อาจารย์แนะนำว่าเวลาซื้องานของศิลปินควรซื้อตั้งแต่ศิลปินเพิ่งเริ่มต้น รูปยังราคาถูกเพราะยังซื้อได้ง่าย ศิลปินกำลังอยู่ในช่วงสร้างเนื้อสร้างตัวศิลปินเหล่านั้นย่อมยินดีขายงาน
หากศิลปินมีชื่อเสียงแล้วเมื่อรูปราคาจะสูงอาจจะซื้อไม่ได้
ถ้าเชื่อมั่นในศิลปินที่ตัวเองศึกษามาอย่างดีแล้วจงอย่าเปลี่ยนแปลง
ในรายละเอียดอาจารย์เฉลิมชัยแนะนำให้ซื้อกระจาย เช่น ถ้ามีงบ 300,000 บาท ให้ไล่ซื้อศิลปินที่ชอบ 5 ถึง 10 คน เพื่อให้เรารู้จักศิลปิน และช่วยให้ศิลปินได้สร้างสรรค์งานต่อ
จากนั้นจึงเฝ้าติดตามพัฒนาการของศิลปินถ้าศิลปินมีพัฒนาการที่ดีเราก็ซื้อรูปที่ดีขึ้น รูปที่ขนาดใหญ่ขึ้น ตามไปเรื่อย ๆ โดยในภายหลังเราอาจจะเหลือศิลปินแค่ 2-3 คน ที่เราชื่นชอบและเห็นแวว
เมื่อเวลาผ่านไปศิลปินอาจจะเริ่มมีชื่อเสียงรูปของเราก็มีมูลค่าเพิ่มขึ้นและเราอาจจะซื้อรูปของศิลปินคนนั้นได้ในราคาที่ถูกกว่าคนอื่น เพราะสายสัมพันธ์ที่มีมาตั้งแต่ต้น
ทั้งหมดนี้เป็นคำแนะนำจากอาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ที่ให้กับนักสะสมงานศิลปะไทยรุ่นใหม่ ที่ช่วยให้คนทั่วไปได้เข้าใจถึงการสะสมงานศิลปะมากขึ้น