ข่าวที่ AI ได้ภาพวาดครอบครัวมนุษย์ จากการวิเคราะห์งานศิลปะ 15,000 ชิ้น และถูกเตรียมที่จะนำไปประมูลด้วยมูลค่า 8,000 – 11,000.- ดอลล่าร์ คงสร้างความหวั่นไหวให้กับคนในสังคมไม่น้อย ว่าอีกหน่อย ชีวิตของลูกหลานจะเป็นอย่างไร จะถูกแย่งงานจากหุ่นยนต์ไหม ขนาดงานศิลปะยังทำแล้ว ส่วนงานอื่น ๆ จะรอดหรือเปล่า
การสู้กันของกองรูปภาพเก่า 6 ลังกับกระดาษเปล่า 1 ใบ
เป็นที่น่าสนใจว่าหลักการเรียนรู้ของ AI หรือ artificial intelligent ใช้เทคโนโลยี Deep learning ด้วยการใช้ภาพวาด 15,000 รูปเป็นฐานในการวิเคราะห์และเรียนรู้ในการสร้างผลงาน เปรียบได้กับการใช้กระดาษที่มีรูปงานศิลปะจำนวน 30 รีม หรือ 6 ลังเป็นข้อมูลตั้งต้นในการสร้างผลงาน แน่นอนในอนาคต ข้อมูลตั้งต้นในการสร้างงานของปัญญาประดิษฐ์ (A.I.) คงขยายมากขึ้นเรื่อย ๆ เป็นหลายร้อยหลายพันลังแน่ ๆ
ในขณะที่การสร้างงานศิลปะของมนุษย์ เกิดจากกระดาษเปล่า 1 แผ่น ที่บวกกับจิตนาการและความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งไม่มีขอบเขตจำกัด ไม่รู้จบ


A.I. = ช่างศิลป์ มนุษย์ = ศิลปิน ?
AI เรียนรู้จากตัวอย่าง จากข้อมูลที่ผ่านมา ยิ่งมีข้อมูลมากจะยิ่งมีประสิทธิภาพ โดยคิดบนฐานของชุดคำสั่ง จึงไม่มีเรื่องอคติ แต่ในมุมกลับกันอคติคือ ความรัก ความชอบ ความชัง อันมาจากอารมณ์ เป็นคุณค่าที่มนุษษย์แต่ละคนให้ค่ากับสิ่งต่าง ๆ รอบตัวไม่เหมือนกัน ชอบกันนั้น ชอบอันนี้ ไม่ชอบแบบนี้ ก่อตัวเป็นสไตล์ของตนเอง
งานที่ A.I. จะเข้ามาทำแทนมนุษย์นั้นจะเป็นงานที่มีรูปแบบเดิมซ้ำ ๆ หรืองานที่เป็นการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก โดยใช้ความสามารถของคอมพิวเตอร์ในการประมวลผล จึงมีความแม่นยำรวดเร็ว ในแง่นี้งานที่ต้องใช้ทักษะที่ฝึกฝนบ่อย ๆ จนช่ำชองจึงมีโอาสตกเป็นงานของหุ่นยนต์ เช่น การร่างแบบจากภาพถ่าย การถอดแบบ การ copy สิ่งที่มีอยู่แล้ว ในขณะที่งานที่เป็นต้นรากของความคิด ที่เริ่มจากความว่างเปล่าที่นำไปสู่ความสร้างสรรค์ที่ไม่สิ้นสุดจึงเป็นส่วนของมนุษย์ (ชวนอ่าน ศิลปะเด็กส่งเสริมอย่างไรให้ได้ความคิดสร้างสรรค์)
ในอนาคต คนที่เป็นผู้สร้างสรรค์ เป็นศิลปิน จึงอาจควบคุม หรือใช้ทักษะของ A.I. ในการสร้างสรรค์ผลงานตามความคิดและจินตนาการอันไม่รู้จบของตนเอง

ทุก ๆ สิ่งที่เราสอนต้องต่างไปจากสิ่งที่หุ่นยนต์ทำได้
Jack Ma นักธุรกิจ เจ้าของบริษัทเครือ Alibaba ที่มีการศึกษาวิจัยและใช้ AI ในธุรกิจมากมาย ถึงกับบอกว่า การศึกษากำลังถูกท้าทายอย่างมาก ถ้าเราไม่เปลี่ยนวิธีสอนของเราอีก 30 ปีเราจะเจอหายนะ วิธีที่เราสอนเด็ก ๆ ตลอด 200 ปีที่ผ่านมาอยู่บนฐานของความรู้ และเราไม่สามารถสอนเด็กของเราให้แข่งกับหุ่นยนต์ได้ เพราะมันฉลาดกว่า ครูต้องหยุดสอนสิ่งที่เป็นความรู้ เราต้องสอนอะไรมีมีความเป็นพิเศษ แตกต่าง ที่หุ่นยนต์ไม่สามารถตามเราได้ทัน
และสิ่งเหล่านั้นคือ ทักษะด้านใน (Soft Skills) คือ คุณค่า ความเชื่อ ความคิดอิสระ การทำงานเป็นทีม การใส่ใจคนอื่น ทักษะด้านในเหล่านี้ ความรู้ไม่สามารถให้ได้ นั้นเป็นเหตุผลที่ผมถึงคิดว่า เราควรสอนเด็กเกี่ยวกับ กีฬา ดนตรี การวาดรูป ศิลปะ ให้แน่ใจว่ามนุษย์นั้นแตกต่าง ทุกอย่างที่เราสอนต้องต้องแตกต่างจากหุ่นยนต์ ให้แน่ใจว่าเราสอนไม่เหมือนกับหุ่นยนต์ เราต้องคิดถึงเรื่องนี้ให้มาก
คิดจากกองข้อมูลของอดีต VS คิดจากความว่างเปล่าสู่อนาคตที่ไม่มีข้อจำกัด

โดย สรุป การคิดแบบ A.I. จึงเป็นการรวบรวมอดีตที่ผ่านมาแล้วซึ่งต้องใช้การสะสมข้อมูลจำนวนมาก แต่มนุษย์ที่มีจินตาการเริ่มจากความว่างเปล่า และสร้างอนาคตขึ้นมาซึ่งสามารถเป็นอะไรได้อีกมากมายที่เท่าที่จินตนาการและอารมณ์ของเราจะนำไป
***********************************************************